พัน กี-มุน (อักษรโรมัน: Ban Ki-moon; เกาหลี: ???, ฮันจา: ???, MC: Ban Gi-mun, MR: Pan Ki-mun; เกิด 13 มิถุนายน พ.ศ. 2487) เป็นเลขาธิการสหประชาชาติ คนที่ 8 และคนปัจจุบัน ต่อจากโคฟี แอนนัน โดยได้รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง พันเคยเป็นนักการทูตในกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของเกาหลีใต้และในสหประชาชาติ เขาได้ก้าวเข้าสู่พิธีการทูตตั้งแต่ปีที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย โดยได้รับตำแหน่งแรกในนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในระหว่างการทำงาน เขาได้สร้างชื่อเสียงในด้านความถ่อมตนและความสามารถ
พันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของเกาหลีใต้ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เขาเริ่มการรณรงค์หาเสียงสำหรับตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ เดิมทีพันถูกพิจารณาว่ามีโอกาสเข้ารับตำแหน่งน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ในฐานะรัฐมนตรี เขาสามารถเดินทางไปยังประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทุกประเทศได้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เขาได้เปรียบมากขึ้น
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เขาได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติคนที่ 8 เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เขาสืบทอดตำแหน่งแอนนันสำเร็จ และนำการปฏิรูปครั้งสำคัญในการรักษาสันติภาพและปฏิบัติการการจัดวางกำลังของสหประชาชาติ ในทางการทูต พันได้ให้ความเอาใจใส่อย่างมากต่อความขัดแย้งในดาร์ฟูร์ ที่ซึ่งเขาช่วยชักนำให้ประธานาธิบดีซูดาน อูมัร ฮะซัน อะห์มัด อัลบะชีร์ ยินยอมให้กองกำลังรักษาสันติภาพเข้าสู่ซูดาน ในประเด็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์โลกร้อน เขาได้กดดันปัญหาดังกล่าวหลายครั้งกับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช
พันสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซลใน พ.ศ. 2513 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขารัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี พ.ศ. 2528
พันสมรสกับนางยู ซูน แท็ก และมีลูกชาย 1 คน กับลูกสาว 2 คน ถึงแม้จะเป็นชาวเกาหลีใต้โดยกำเนิด แต่พันก็มีความคล่องแคล่วในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนมัธยมในทศวรรษที่ 60 พันชนะเลิศการแข่งขันภาษาอังกฤษซึ่งจัดขึ้นโดยสภากาชาดอเมริกัน ทำให้เขาได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาและเข้าพบ จอห์น เอฟ. เคนเนดี อีกด้วย เขาระบุว่าตนเองเป็นคริสต์ศาสนิกชนซึ่งไม่ได้เข้ารีตนิกายใด ๆ
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 พันประกาศที่จะสมัครเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ซึ่งจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากโคฟี แอนนัน ที่จะหมดวาระเมื่อสิ้น พ.ศ. 2549 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีชาวเกาหลีใต้ลงชิงตำแหน่ง โดยพันได้คะแนนนำเป็นอันดับหนึ่งทุกครั้งในการลงคะแนนหยั่งเสียงทั้ง 4 หนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติซึ่งมีการจัดขึ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม 14 กันยายน 28 กันยายน และ 2 ตุลาคม
จากผลการลงคะแนนเสียงอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พันได้รับเสียงสนับสนุนทั้งสิ้น 14 เสียงโดยไม่มีผู้คัดค้านเลยแม้แต่เสียงเดียว และอีก 1 เสียงซึ่ง "ไม่ลงคะแนน" นอกจากนั้น เขายังไม่ถูกคัดค้านโดยใช้วีโต้คัดค้านเลย ในขณะที่ผู้ลงสมัครที่เหลืออีก 5 คนนั้นถูกลงคะแนนคัดค้านโดยแต่ละชาติสมาชิกถาวร 5 ชาติ-ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา-อย่างน้อย 1 เสียง หลังจากการลงคะแนนเสียง ชาชิ ธารูร์ ตัวแทนจากประเทศอินเดียซึ่งได้รับคะแนนเป็นอันดับสองได้ขอถอนตัวออกจากการคัดเลือกไปและกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าเขารู้สึก "มั่นใจว่าพันจะชนะ" ขณะที่ผู้แทนถาวรของจีนต่อสหประชาชาติกล่าวว่า "ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดจากการหยั่งเสียงในวันนี้ว่าท่านรัฐมนตรีพัน คี มูนจะเป็นผู้ลงสมัครซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแนะนำแก่สมัชชาใหญ่"
ในวันที่ 9 ตุลาคม คณะมนตรีความมั่นคงได้เลือกให้พันเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม สมาชิกสมัชชาใหญ่ทั้ง 192 ชาติก็มีมติแต่งตั้งให้พันเป็นว่าที่เลขาธิการสหประชาชาติ[ต้องการอ้างอิง]
แกลด์วิน เจบบ์ • ทรีฟ ลี • ดั๊ก ฮัมมาโชลด์ • อู ถั่น • เคิร์ท วัลไฮม์ • ฮาเวียร์ เปเรซ เดอเควลยาร์ • บูทรอส บูทรอส-กาลี • โคฟี แอนนัน • พัน กี-มุน